หลักนิติธรรมของประเทศอังกฤษ และประเทศไทย : ความหมายและสาระสำคัญ

Chiangmai Legal Business > บทความ > Uncategorized > หลักนิติธรรมของประเทศอังกฤษ และประเทศไทย : ความหมายและสาระสำคัญ

หลักนิติธรรมของประเทศอังกฤษ และประเทศไทย : ความหมายและสาระสำคัญ

เขตไท ลังการ์พินธุ์1

Khettai Langkarpint

บทคัดย่อ

หลักนิติธรรม มีความหมายอย่างไร มีสาระสำคัญอย่างไร บทความฉบับนี้ จะเปรียบเทียบ ประวัติความเป็นมา ตลอดจนความหมายและสาระสำคัญต่างๆ ระหว่างประเทศอังกฤษ และ ประเทศไทยที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่า ความหมายของหลักนิติธรรม ของอังกฤษโดยเฉพาะหลักการของราส (Raz’s Principles) มีหลายข้อที่มีส่วนคล้ายคลึง ความหมายของหลักนิติธรรมทั้งอย่างแคบและอย่างกว้างของประเทศไทย โดยสรุป “หลักนิติธรรม” ทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นแนวคิดก่อตัวขึ้นเพื่อเป็นการจำกัดอำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนอันเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข

คำสำคัญ: หลักนิติธรรม, ความหมาย, เปรียบเทียบ, ประเทศอังกฤษ, ประเทศไทย

Abstract

The rule of law, what does it mean? What is a definition? This study will compare the history, the process including the meaning and definitions between England and Thailand since the past until present day. This study found that the definitions of the Rule of law in England especially the Raz’s principle have similarly with the rule of law in Thailand (both general and special meaning). In conclusion, the rule of law both England and Thailand has established that aims at ensuing the correct balance of rights and powers between individuals and the state as it is a heart of the democracy system that King is the Head of States.

Keywords: The Rule of Law, Definition, Comparative, England, Thailand

1.บทนำ

ประวัติและความเป็นมา

หลักนิติธรรม (The Rule of Law) แปลอย่างง่ายนั้นคือ หลักการปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวคิดมาช้านาน ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยเฉพาะเพลโตนักปราชญ์ชาวกรีก ผู้เสนอความคิด การแบ่งชนชั้นปกครอง ตามหนังสือ The Republic2 และอริสโตเติ้ลได้นำมาเสนอต่อว่า การปกครองโดยกฎหมายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนามากกว่าการปกครองโดยมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ใด ก็ตาม3 ต่อมาหลักนี้มีรูปธรรมขึ้นในสมัยพระเจ้าจอห์นกษัตริย์อังกฤษ ผู้ถูกบังคับให้ลงนาม ในกฎบัตรแมกนาคาร์ตา (Magna Carta) เพื่อจำกัดอำนาจของกษัตริย์ในสมัยนั้นกับขุนนางและ เจ้าเมือง ทั้งหลาย ดังนั้นการปกครองในรูปรัฐสภาของอังกฤษในปัจจุบันนี้ หลักนี้จึงถูกดำรงอยู่ ในระบบกฎหมาย Common Law และเป็นหลักที่ใช้ในการจำกัดการปกครองของอังกฤษและ เคียงคู่ระบบการปกครองในระบบประชาธิปไตยโดยรัฐสภามาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่า หลักนิติธรรมของอังกฤษมีต้นกำเนิดจากความหวั่นเกรงในอำนาจรัฐโดยขุนนางเป็นที่ตั้งหลักนี้ จึงมีแนวคิดในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนมากกว่า4

สำหรับประเทศไทยหลังมีประชาธิปไตยโดยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่มีรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 (ที่ถือว่าเป็นฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตย มากที่สุด แต่ไม่มีการบัญญัติถึง “หลักนิติธรรม” หรือ “หลักนิติรัฐ” อย่างชัดเจน แต่ปรากฏ ในหลักต่างๆ อยู่ เช่น หลักเสมอภาค, หลักการแบ่งแยกอำนาจ ) ต่อมาเกิดรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 จึงมีบทบัญญัติหลักนิติธรรมไว้ในมาตรการที่กำหนดไว้ว่า การใช้อำนาจรัฐนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

จนถึงปี พ.ศ. 2557 ได้เกิดรัฐประหารและมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) มิได้ บัญญัติโดยตรงถือหลักนิติธรรม ที่ปรากฏในมาตรา 4 ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ นี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับ การคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญนี้”

ต่อมาได้บัญญัติอีกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีล่าสุดนี้ (พ.ศ.2558) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ยกร่างฯเห็นควรกำหนดรายละเอียดวางหลักพื้นฐาน 5 ประการในร่างบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ หลักนิติธรรม5

ดังนั้น โดยสรุปทั้งอังกฤษและไทย ได้มีการบัญญัติหรือปรากฏ “หลักนิติธรรม” ซึ่งเป็นหลัก ที่สำคัญและใช้ในการจำกัดอำนาจการปกครอง ของทั้ง 2 ประเทศที่มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ คือ ระบอบการปกครองในระบบประชาธิปไตย (รัฐสภา) อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการบัญญัติรายละเอียดของหลักนิติธรรมเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ว่าในรัฐธรรมนูญหรือ ในกฎหมายอื่นๆ

2.ความหมายและสาระสำคัญของหลักนิติธรรม

กฎหมายทั้งของประเทศอังกฤษและประเทศไทย ปัจจุบันมีการกำหนดความหมาย และ สาระสำคัญของหลักนิติธรรมนี้ไว้เป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ได้เป็นลักษณะนามธรรมหรือไม่มีการเขียน เป็นลายลักษณ์อักษรดังเช่นในอดีต

ประเทศอังกฤษ

ในอดีตความหมายและสาระสำคัญของหลักนิติธรรมนั้นไม่ได้มีรูปธรรมชัดเจนสาเหตุที่ไม่มี การกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเพราะเป็นหลักที่เกี่ยวกับศีลธรรมของการเมือง ที่มีจุดประสงค์ ที่จะสมดุล การใช้อำนาจและสิทธิระหว่างรัฐกับประชาชน การควบคุมการใช้อำนาจของรัฐนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการปกครองโดยกฎหมาย และการใช้กฎหมายจำกัดอำนาจของรัฐ เพื่อปกป้อง ประชาชนจากอำนาจเบ็ดเสร็จ และการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของรัฐ (abuse of power) เหมือนกับคำสอนของอริสโตเติ้ล นักปราชญ์ชาวกรีกที่กล่าวไว้ว่า รัฐบาลที่ปกครองด้วยกฎหมาย ดีกว่ารัฐบาลที่ปกครองโดยคน (government by laws was superior to government by men)6

ปัจจุบันมีการกำหนดรูปธรรมชัดเจนในความหมายของหลักนิติธรรมโดยนักกฎหมาย ของอังกฤษ ชื่อ Dicey7 ได้ใช้ค่านิยมหรือความหมายไว้ 3 ประการคือ

1. ต้องไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (The absence of arbitrary power) หมายความว่า การมี อำนาจสูงสุดหรือ การอยู่เหนืออำนาจของกฎหมายโดยปกตินั้นจะกระทำมิได้ รวมถึงการใช้อำนาจ เผด็จการ หรือ มีอภิสิทธิ์ หรือ ภายใต้ดุลยพินิจ ของอำนาจรัฐมากเกินไป

ตัวอย่างเช่น คดี Entick V Carrington 1765 ศาลปฏิเสธคำขอของคณะรัฐมนตรี ถึงการไม่ใช้กฎหมาย Common Law หรือ พ.ร.บ.อื่นๆ เพื่อให้อำนาจรัฐออกหมายค้นเข้าไปที่อยู่ ของประชาชนทั่วไป

การลงโทษบุคคลนั้นจะต้องมีกฎหมายรองรับเท่านั้น โดยเฉพาะการลงโทษตามกฎหมาย อาญานั้นจะต้องทำตามบทบัญญัติของกฎหมายและวิธีพิจารณาของศาลแต่มีข้อโต้แย้ง (ถกเถียง) เรื่องการกักขังผู้ก่อการร้าย (ผู้ต้องสงสัย) ถึง 28 วันโดยยังไม่ฟ้องคดีต่อศาล

2. หลัก “ทุกคนต้องเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ศาลเดียวกัน” (equality before the law)หลักนี้ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทุกคนต้องอยู่ภายใต้ กฎหมายเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่มีสิทธิพิเศษของกฎหมายหรือความคุ้มกัน แม้แต่ราชวงศ์ ต้องถูกฟ้องในคดีหรือสัญญาและละเมิดได้ (Crown Proceedings Act 1947)

3. หลัก “สิทธิของประชาชนไม่อยู่เฉพาะในกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น” หลักนี้หมายความว่า สิทธิของประชาชนไม่ได้มีเฉพาะกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ปรากฏอยู่กฎหมายจารีต ประเพณีหรือกฎหมายของต่างประเทศด้วย หากเกิดความเสียหายขึ้นต้องเยียวยาทันที่ให้แก่ผู้ที่ ถูกผลกระทบนี้ซึ่งสูญเสียอิสรภาพจากการกระทำผิดกฎหมายนั้น

นอกจากนั้นยังปรากฏหลักนิติธรรมของนักกฎหมายอังกฤษโดยเรียกว่า หลักของ ราส (Raz’s Principles)8 8 ข้อ

  1. กฎหมายต้องเป็นทั่วไป (ไม่เลือกเฉพาะ) เป็นเรื่องมีผลไปล่วงหน้า (prospectus) มากกว่ามีผลย้อนหลัง (restructure)
  2. กฎหมายต้องมีเสถียรภาพและไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขบ่อยๆ
  3. กฎหมายต้องมีกฎหมายชัดเจนและกระบวนการที่ออกกฎหมาย
  4. หลักอิสระของศาลต้องได้รับการประกัน
  5. หลักของความยุติธรรมจะต้องมีโดยเฉพาะสิทธิที่ได้รับการพิจารณาในศาลอย่างเป็นธรรม
  6. ศาลจะต้องมีอำนาจตรวจสอบในหลักการอื่นๆ ที่มาบังคับใช้
  7. ประชาชนต้องเข้าถึงความยุติธรรมได้ทุกคนโดยเฉพาะศาล9
  8. การใช้อำนาจของรัฐ(การบังคับใช้กฎหมาย) และการป้องกันอาชญากรรมของหน่วยงานรัฐต้องไม่ใช้ในการที่ผิด (ตีความ)

ประเทศไทย

ส่วนหลักนิติธรรมของประเทศไทยนั้น ได้มีการพยายามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมหลายฉบับ แต่มาปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 โดยกำหนดว่าการใช้ อำนาจรัฐนั้นจะต้องเป็นไปตามหลัก “นิติธรรม” แต่ไม่ระบุความหมายเพื่อรายละเอียดว่าอย่างไร แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีล่าสุดนี้(พ.ศ.2558) ที่ประชุมฯเห็นควรวางหลักพื้นฐาน 5 ประการ ในร่างบทบัญญัติที่เกี่ยวกับหลักนิติธรรมดังนี้

“หลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อยมีหลักการ พื้นฐานสำคัญดังต่อไปนี้

  1. ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล และการเคารพ รัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งโดยรัฐและประชาชน
  2. การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
  3. การแบ่งแยกการใช้อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ และการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์สาธารณะ
  4. นิติกระบวน ซึ่งอย่างน้อยไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญาแก่บุคคลให้บุคคลมีสิทธิในการปกป้องตนเองเมื่อสิทธิหรือเสรีภาพถูกกระทบ ไม่บังคับต้องให้บุคคลต้องให้ถ้อยคำซึ่งทำให้ต้องรับผิดทางอาญา ไม่ทำให้บุคคลต้องถูกดำเนินคดีอาญาในการกระทำผิดเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง มีข้อกำหนดให้สันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด
  5. ความเป็นอิสระของศาล และความสุจริตเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม “ศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ กล่าวบรรยายร่างข้อเสนอเรื่อง“หลักนิติธรรม ความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืน” ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ไว้ดังนี้10

คำว่า “หลักนิติธรรม” มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Rule of Law ซึ่งมีผู้ให้คำแปลไว้ หลากหลาย อาทิ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า “หลักพื้นฐานแห่งกฎหมาย” บ้างก็แปลว่า “หลักการปกครองด้วยกฎหมาย” หรือ “หลักแห่งกฎหมาย” หรือ “หลักกฎหมาย” “กฎของกฎหมาย” “หลักความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย” “หลักความยุติธรรมตามกฎหมาย” “หลักธรรม” “หลักธรรมแห่งกฎหมายหรือนิติปรัชญา” “นิติธรรมวินัย” “ธรรมะแห่งกฎหมาย” หรือ “นิติสดมภ์” ฯลฯ แต่คำแปลที่ได้รับความนิยมและใช้กันแพร่หลายโดยทั่วไปคือคำว่า “หลักนิติธรรม”

อันที่จริงคำว่า “หลักนิติธรรม” ที่มาจากคำว่า Rule of Law ไม่ใช่คำใหม่ในวงการกฎหมาย ของประเทศไทย นักวิชาการและนักกฎหมายไทยได้ยินและรู้จักกับคำว่าหลักนิติธรรมกันมานาน พอสมควร แต่เนื่องจากหลักนิติธรรมเป็นแนวคิดที่กำเนิดและพัฒนาขึ้นก่อนในประเทศอังกฤษ อันมีระบบกฎหมาย แนวคิดและสภาพแวดล้อมที่ต่างจากกฎหมายไทย ประกอบกับหลักนิติธรรม เป็นหลักคิดที่เป็นนามธรรม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยากและมีพลวัตรตลอดเวลา นักคิด นักกฎหมาย นักวิชาการได้อธิบาย ให้ความหมาย องค์ประกอบ สาระสำคัญ ฯลฯ ของคำว่า หลักนิติธรรมไว้ไม่ตรงกันเสียทีเดียว เหตุต่างๆ เหล่านี้จึงอาจทำให้นักกฎหมายและบุคคลต่างๆ มีความเข้าใจความหมาย องค์ประกอบ สาระสำคัญ และความสำคัญของหลักนิติธรรมแตกต่าง กันไป

อย่างไรก็ตาม แม้ในสภาวการณ์ที่นักคิด นักกฎหมายอาจอธิบายและเข้าใจความหมาย องค์ประกอบ สาระสำคัญ และความสำคัญของหลักนิติธรรมแตกต่างกันไป แต่ในช่วงหลายปี ที่ประเทศไทยประสบวิกฤตความแตกต่างทางความคิดเห็นนักกฎหมาย นักวิชาการ องค์กรต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไปกลับพูดถึงและกล่าวอ้างให้ทุกๆ ฝ่ายเคารพและยึดหลักนิติธรรม มากเป็นพิเศษจนทำให้สรุปได้ว่า ไม่ว่าแต่ละบุคคลจะเข้าใจความหมาย สาระสำคัญหรือ องค์ประกอบของหลักนิติธรรมตรงกันหรือไม่ อย่างไร แต่ทุกคนเคารพและยึดหลักนิติธรรม

ต่อมาได้มีความพยายามหาความหมายและสาระสำคัญของหลักนี้ โดยปรากฏอยู่ในหนังสือ เรื่อง “หลักนิติธรรม” ที่จัดทำขึ้นโดย คณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)11 โดยแบ่งเป็น ความหมาย

หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด (ความหมายอย่างแคบ) และหลักนิติธรรมโดยทั่วไป (ความหมายอย่างกว้าง) ดังต่อไปนี้

3.หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด

หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด หมายถึง หลักพื้นฐานแห่งกฎหมาย ที่กฎหมาย กระบวนการ ยุติธรรมหรือการกระทำใดๆ จะต้องไม่ฝ่าฝืน ขัด หรือแย้งต่อหลักนิติธรรม โดยหลักนี้จะถูก ล่วงละเมิดมิได้ หากฝ่าฝืน ขัด หรือแย้งต่อหลักนิติธรรมนี้ ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ

หลักนี้มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

3.1 หลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษาและตุลาการ12

ความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษาและตุลาการ หมายถึง ผู้พิพากษาและ ตุลาการต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีภายใต้หลักกฎหมายความเป็นอิสระ เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานเพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามมารถดำรงตนด้วยความเป็นกลาง ในการดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยคดีต่างๆ โดยปราศจากอคติไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด โดยเที่ยงธรรมตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ความเป็นอิสระอันเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ หน้าที่ด้วย ความเป็นกลางนั้น อาจพิจารณาได้ว่ามีอยู่ 2 รูปแบบ กล่าวคือ

1) ความเป็นอิสระและความเป็นกลางจากภายนอก คือ ผู้พิพากษาและตุลาการจะต้อง ไม่อยู่ภายใต้อาณัติการสั่งการและแทรกแซงได้จากผู้อื่น

2) ความเป็นอิสระและความเป็นกลางจากภายใน คือผู้พิพากษาและตาการ ต้องพิจารณา พิพากษาคดีและตัดสินคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง

ดังนั้น กฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี ของผู้พิพากษาและตุลาการ จะต้องมุ้งไปสู่ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ หากมี กฎหมายที่ลิดรอนหรือทำให้ผู้พิพากษาและตุลาการไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ หรือปรากฏชัดแจ้งว่าผู้พิพากษาและตุลาการอยู่ภายใต้อคติในการปฏิบัติหน้าที่ กฎหมาย คำพิพากษา คำสั่ง หรือ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากขัดต่อหลักนิติธรรม

3.2 กฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป13

กฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป หมายถึง กฎหมายต้องมุ่งหมายให้ใช้บังคับโดยเสมอ ภาคกัน ไม่สามารถใช้บังคับกับเฉพาะคนบางคน หรือ กรณีบางกรณีโดยเฉพาะเจาะจงได้ เพราะกฎหมายจะต้องเป็นการวางกฎเกณฑ์ กติกา สำหรับสังคมโดยทั่วไป จึงจำเป็นต้องให้ กฎหมายใช้บังคับเป็นการทั่วไป

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะบัญญัติมาเพื่อใช้บังคับกับคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง หรือวิชาชีพ ใดวิชาชีพหนึ่งก็สามารถใช้บังคับได้ หากใช้บังคับเป็นการทั่วไป กับคนกลุ่มนั้นๆ อาทิ กฎหมาย เกี่ยวกับพรรคการเมืองกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรวิชาชีพ กฎหมายจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ หรือกฎหมายจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง เป็นต้น

หลักในข้อนี้มีไว้เพื่อป้องกันมิให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจใช้อำนาจออกกฎหมายมุ่งหมาย กลั่นแกล้ง หรือลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง อันจะทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการจัดการกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับตน โดยเหตุนี้การตั้งศาลพิเศษหน่วยงานพิเศษ หรือองค์กรเฉพาะกิจมาเพื่อพิจารณาความผิด ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงเพื่อกลั่นแกล้งหรือลงโทษ ย่อมไม่สามารถกระทำได้

3.3 กฎหมายต้องมีการประกาศใช้ให้ประชาชนทราบ14

กฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลำดับชั้นใดจะต้องมีการประกาศใช้เป็นการทั่วไป เพื่อให้ ประชาชนได้รับทราบก่อนที่จะมีผลใช้บังคับ ความมีผลใช้บังคับของกฎหมายอาจมีผลทันทีที่ ประกาศใช้หรืออาจจะให้มีผลใช้บังคับเมื่อระยะเวลาหนึ่งผ่านไปก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

การประกาศใช้กฎหมายนั้นอาจไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสมอไป ขึ้นอยู่ กับลำดับชั้นของกฎหมายแต่ละชนิดแต่ละประเภท แต่ต้องมีการประกาศใช้เป็นการทั่วไปเพื่อให้ ประชาชนทราบกฎหมายนั้นย่อมไม่มีผลใช้บังคับ

3.4 กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ15

กฎหมายอาญาต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ หมายความว่า หากในขณะ กระทำการใดๆ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญา กฎหมายอาญา ที่บัญญัติในภายหลังจะกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและลงโทษมิได้ นอกจากนี้ หากการกระทำใดมีกฎหมายอาญาบัญญัติความผิดและโทษอยู่แล้วในขณะการกระทำความผิด กฎหมายอาญาที่บัญญัติในภายหลังจะกำหนดให้การกระทำดังกล่าวนั้นมีความผิดและให้บุคคล ต้องรับโทษที่หนักขึ้นไม่ได้

การบัญญัติกฎหมายอาญาใช้ย้อนหลังแก่การกระทำที่เกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมเท่ากับกฎหมาย มุ่งจะให้บุคคลได้รับโทษก่อนที่จะมีกฎหมายประชาชนย่อมไม่ทราบหรือไม่ตระหนักการกระทำของ ตนเองจะได้รับโทษทางอาญาซึ่งรุนแรงกว่าโทษอื่นๆ กฎหมายดังกล่าวจึงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนเกินกว่าสังคมจะยอมรับได้ และกฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล ใช้อำนาจออกกฎหมายกลั่นแกล้งลงโทษบุคคลอื่นจึงไม่ถูกต้อง กฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น ที่มีโทษทางอาญาอันมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษจึงขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมไม่มีผลใช้บังคับ

3.5 ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องมีสิทธิในการต่อสู้คดี16

หลักนิติธรรมในข้อนี้มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุดในกระบวนการ ยุติธรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาจะต้องได้รับสิทธิต่างๆ ในการต่อสู้คดีของตนอย่างเต็มที่ ตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมาย การปิดกั้นมิให้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนจะกระทำไม่ได้

หลักการพื้นฐานในข้อนี้ป้องกันมิให้มีอำนาจรัฐรวบรัดใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการจับกุม คุมขัง ลงโทษผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยไม่ผ่านกระบวนการต่อสู้คดี ในศาลของผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บทบัญญัติมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502, มาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2519 และ มาตรา 27 แห่งธรรมนูญ การปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใดๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีตามกระบวนการยุติธรรม บทบัญญัติดังกล่าว จึงขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมไม่มีผลใช้บังคับ

3.6 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจ17

เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถใช้อำนาจได้ หากว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งจะแตกต่างไปจากหลักพื้นฐานของกฎหมายเอกชน ที่ประชาชนสามารถกระทำการได้ทุกประการหากกฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามมิให้กระทำไว้

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้หรือใช้อำนาจเกินกว่า ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ย่อมทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเสียหาย การกระทำของเจ้าหน้าที่ รัฐดังกล่าวจึงไม่สามารถกระทำได้ และหากมีการฝืนกระทำไปย่อมไม่มีผลใช้บังคับ

3.7 กฎหมายจะยกเว้นความรับผิดให้แก่การกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ได้18

ภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความพยายามของผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล ในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อกระทำการใดๆ อันไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ย่อมผันแปร เปลี่ยนไปตามกาลสมัย หลักนิติธรรมจึงต้องมีพลวัตพัฒนาให้เท่ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับกฎหมายที่บัญญัติให้อภัยหรือนิรโทษแก่การกระทำความผิดใดๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในอดีตสามารถกระทำได้ หากการให้อภัยโทษหรือการนิรโทษนั้นจะนำไปสู่ความสงบสุข ของบ้านเมือง นำไปสู่ความรักความสามัคคีของประชาชนในชาติ อันเป็นการสอดคล้อง กับหลักเมตตาธรรมและหลักสามัคคีธรรม

4.หลักนิติธรรมโดยทั่วไป19

หลักนิติธรรมโดยทั่วไป หมายถึง ลักษณะที่ดีของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมหรือ การกระทำใดๆ ที่อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอุดมคติของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หากฝ่าฝืนหลักนี้ก็ยังใช้บังคับได้อยู่ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด

หลักนี้มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

4.1 กฎหมายที่ดีต้องมีความชัดเจน20

หมายความว่า การบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจะต้องใช้ถ้อยคำในลักษณะ ที่ชัดเจน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมายนั้นหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนโดยไม่จำเป็น เพราะจะทำให้สามารถตีความไปได้หลายนัย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาโต้แย้ง โต้เถียงต่อไปในการใช้การตีความกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่ากฎหมายจะต้องบัญญัติออกมาโดยไม่ให้มีการตีความ เสมอไปในบางกรณีการบัญญัติกฎหมายอาจจำเป็นต้องใช้ถ้อยคำกว้างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้มี การใช้การตีความในอนาคต เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามกาลสมัยก็ได้ อาทิ การที่กฎหมาย ใช้ถ้อยคำทำนองที่ว่า “ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” เป็นต้น

4.2 กฎหมายที่ดีต้องไม่ขัดแย้งกันเอง21

หมายความว่า การบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจะต้องใช้ถ้อยคำที่มีความหมาย และเนื้อหาสอดคล้องต้องกันทั้งฉบับ มิใช่กฎหมายมาตราหนึ่งขัดหรือแย้งกันเองกับอีกมาตราหนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น หรือ บทบัญญัติในตอนต้นบัญญัติไว้อย่างหนึ่งแต่ในตอนท้ายกลับบัญญัติ ไว้เป็นอีกอย่างหนึ่งตรงกันข้ามกันหรือไม่สอดคล้องกัน เช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความสับสนและ ก่อให้เกิดปัญหาการใช้การตีความกฎหมายได้

4.3 กฎหมายที่ดีต้องมีเหตุผล22

หมายความว่า กฎหมายที่บัญญัติขึ้นนั้นจะต้องมีเหตุผล และมีความจำเป็นที่จะต้องมี กฎหมายฉบับนั้น หากการบัญญัติกฎหมายเพื่อใช้บังคับกับประชาชนแต่ไม่สามารถอธิบายถึง เหตุผลอันยอมรับได้และความจำเป็นของการมีกฎหมายนั้นๆ ได้ จะทำให้กฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือความไม่มีเหตุผลจะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่อยู่ ใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนั้นและอาจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้

4.4 กฎหมายที่ดีต้องนำไปสู่ความเป็นธรรม23

หมายความว่า เป้าหมายของการมีกฎหมายในท้ายที่สุด คือ ความเป็นธรรม ซึ่งความเป็น ธรรมดังกล่าวย่อมไม่สามารถพิจารณาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ หากแต่ต้องเป็นความเป็นธรรม ของสังคมโดยภาพรวม ดังนั้นหากกฎหมายซึ่งเป็นเพียงวิธีการก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม บัญญัติโดยไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นธรรมแล้วย่อมเป็นกฎหมายที่ไม่ดี

4.5 กฎหมายที่ดีต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิขั้นพื้นฐาน24

หมายความว่า กฎหมายที่ดีจะต้องสอดคล้องและสนับสนุน หลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทั้งนี้ เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัว มนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดไม่สมควรที่รัฐหรือผู้มีอำนาจออกกฎหมายจะพรากสิทธิดังกล่าวไปจากผู้นั้น เช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการติดต่อสื่อสาร สิทธิผู้พิการเป็นต้น

อย่างไรก็ตามสิทธิบางประการหากมีความจำเป็นในบางสถานการณ์บางพื้นที่ รัฐสามารถ บัญญัติกฎหมายมาจำกัดสิทธิบางประการได้เท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ เช่น การห้าม ผู้ต้องขังในเรือนจำใช้อุปกรณ์สื่อสารเพื่อป้องกันการติดต่อในการค้ายาเสพติด เป็นต้น

4.6 กฎหมายที่ดีต้องทันสมัย และสามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม25

หมายความว่า กฎหมายที่บัญญัติขึ้นจะต้องไม่เพียงแต่สามารถสนองตอบต่อการแก้ปัญหา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมในสมัยนั้นๆ ได้ หากแต่ต้องสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลง ของพัฒนาการในด้านต่างๆ ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมในอนาคตได้ด้วย ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายจึงจำเป็นต้องบัญญัติให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

4.7 กฎหมายที่ดีต้องบัญญัติตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้26

หมายความว่า ในการบัญญัติกฎหมายโดยหลักการจะต้องเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่มีหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย

องค์กรหรือสถาบันอื่นบัญญัติกฎหมายได้ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เช่น ฝ่ายบริหารสามารถตราพระราชกำหนดได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ แต่ก็ต้องนำเข้ามาพิจารณารับรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้ง หรือฝ่ายบริหารที่สามารถออกกฎหมายลำดับรองอื่นๆ เช่น กฎกระทรวง ฯลฯ เพื่อใช้ในทางบริหารโดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บทที่ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น

4.8 กฎหมายที่ดีต้องไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายหรือกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ หรือ ความรับผิดของบุคคล27

หมายความว่า กฎหมายจะต้องไม่บัญญัติให้เป็นผลร้าย หรือ มีผลกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ หรือ ความรับผิดของบุคคลกับการกระทำของบุคคลที่เกิดขึ้นไปแล้ว และในขณะนั้นไม่มีกฎหมาย บัญญัติเป็นผลร้ายหรือผลกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิดของบุคคลไว้สำหรับการกระท􀃎ำ ดังกล่าวเพราะหากให้กฎหมายมีผลร้ายแล้วจะทำให้บุคคลต่างๆ ในสังคมไม่สามารถเชื่อถือและ ไว้วางใจได้ ว่าสิ่งที่ตนเองได้กระทำไปในปัจจุบันซึ่งชอบด้วยกฎหมาย กลายเป็นการกระทำที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมายในอนาคต เช่น การเพิกถอนสัญชาติย้อนหลัง เป็นต้น

4.9 กฎหมายที่ดีต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับความผิด28

หมายความว่า บทลงโทษที่จำเลย หรือผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ละเมิดกฎหมายจะได้รับจะต้อง ได้สัดส่วนหรือมีความสมเหตุสมผลกับความผิดที่ผู้นั้นได้กระทำ กล่าวคือ หากเป็นความผิด ที่ร้ายแรงบทลงโทษที่ได้รับก็จะต้องรุนแรงแต่หากเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงมากบทลงโทษก็จะต้อง ลดหลั่นลงไป การกำหนดสัดส่วนบทลงโทษให้สัมพันธ์กับความผิดนั้นจะช่วยส่งเสริมการบังคับใช้ กฎหมายให้มีประสิทธิภาพด้วย

4.10 กฎหมายที่ดีต้องมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้และเคารพกฎหมาย29

หมายความว่า บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนั้นๆ สามารถควบคุมกิจกรรมทางสังคมอย่างใด อย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบังคับใช้ กฎหมายอย่างเคร่งคัด ต่อเนื่องโดยไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชน เช่น การกำหนดให้มี การเรียนการสอน และให้ความรู้ด้านกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมในหลักสูตรการศึกษาในแต่ละ ระดับชั้น เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ด้านกฎหมาย ตระหนัก และเห็นความสำคัญ ของกฎหมาย และหลักนิติธรรมอันจะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.11 กระบวนการนิติบัญญัติต้องเป็นกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบ ได้30

หมายความว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่ใช้บังคับกับประชาชน ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงต้องมีสิทธิ เข้าถึงกระบวนการนิติบัญญัติได้ในทุกขั้นตอน เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลของทางราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และเสริมสร้าง กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ความรับผิดตามกฎหมายให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งเป็นการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ

4.12 กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์31

หมายความว่า ในกรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่โดยมีการนำคดีหรือข้อพิพาทขึ้นสู่ การพิจารณาของศาลในกระบวนการยุติธรรมแล้ว และเมื่อมีคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่ง กฎหมายควรจะบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งนั้น มีโอกาสได้อุทธรณ์ คำพิพากษา คำสั่งนั้น ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติไว้

4.13 กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยสะดวก ไม่ ชักช้า ด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม32

หมายความว่า เมื่อประชาชนมีปัญหาข้อพิพาทที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเยียวยาโดย กระบวนการยุติ หรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลก็จะต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการ ยุติธรรมได้โดยสะดวกเช่น สามารถฟ้องคดีต่อศาลที่มิได้ตั้งอยู่ห่างไกลจนเกินสมควร สามารถ ฟ้องคดีเล็กน้อยด้วยวาจาต่อศาลได้ เป็นต้น

กระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินไปอย่างไม่ชักช้า เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าย่อมเท่ากับ การปฏิเสธความยุติธรรม เนื่องจากความล่าช้าทำให้เกิดความไม่แน่ชัดในผลของคดีอันจะส่งผล ต่อสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของ บุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีน้อยที่สุด และเป็นไปตามกรอบเวลาที่เพียงพอสำหรับทำให้เกิดทั้งความรวดเร็วและรอบคอบ ในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม

ในส่วนของค่าใช้จ่ายจะต้องไม่จำกัดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจเช่นใด เพราะประชาชนย่อมมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หากถูกโต้แย้งสิทธิ หรือหน้าที่ต้องการจะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย ดังนั้น หากการเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควรแล้ว ย่อมทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมได้ จึงต้องมีช่องทางให้ เช่น การดำเนินคดีในศาลแรงงานที่ไม่มีค่าฤชาธรรมเนียม การดำเนินคดีผู้บริโภคซึ่งเป็นโจทก์ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือ การดำเนิน คดีโดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีแพ่งที่มีคู่ความร้องขอตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย กำหนด เป็นต้น

4.14 กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องส่งเสริมให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือก33

หมายความว่า การยุติข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทอันนำไปสู่คดีความนั้น นอกจากกระบวนการ ยุติธรรมโดยปกติแล้วควรส่งเสริมให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้แก่ประชาชน เพื่อจัดการ กับปัญหาที่หลากหลายด้วยวิธีการที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหาร งานยุติธรรม และเพิ่มช่องทางในการระงับข้อพิพาท อันจะสร้างความปรองดองให้แก่คู่พิพาททำให้ การบริหารจัดการทรัพยากรภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ลดความสูญเสีย ทางด้านเศรษฐกิจ ลดความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เช่น การระงับข้อพิพาททางเลือก การเจรจา การไกล่เกลี่ย การประนอมข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ยุติธรรมชุมชน เป็นต้น

4.15 นักกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี ต้องมีความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่34

หมายความว่า นักกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี ต้องมีความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายไม่อยู่ภายใต้อาณัติ การสั่งการ และแทรกแซงได้จากผู้บังคับบัญชา หรือผู้อื่นเพื่อให้สามารถดำรงตนด้วยความเป็นกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การสั่งคดี การสั่งคำสั่งคำร้องคำขอต่างๆ การออกคำสั่งทางปกครอง โดยปราศจากอคติไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

4.16 นักกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักคุณธรรม เมตตาธรรม และสันติธรรม35

หมายความว่า นักกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี จะต้องบัญญัติกฎหมาย ใช้ ตีความกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายโดยยึดเจตนารมณ์ ของกฎหมาย หลักคุณธรรม เมตตาธรรมและสันติธรรมด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบอันสำคัญทำให้ การบริหารประเทศมีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม

5.การเปรียบเทียบความหมายและสาระสำคัญของหลักนิติธรรม

จากการศึกษาหลักนิติธรรมทั้งสองประเทศแล้วเราอาจเปรียบเทียบได้ดังตารางข้างล่างนี้

5.1 ตารางเปรียบเทียบหลักนิติธรรมของไทยและอังกฤษ

5.1.1 หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด (ไทย)กับหลักของราส Raz’s Principles (อังกฤษ)

หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด (ไทย)หลักของราส Raz’s Principles (อังกฤษ)
1.หลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษาและตุลาการ1.กฎหมายต้องเป็นทั่วไป (ไม่เลือกเฉพาะ) เป็นเรื่องมีผลไปล่วงหน้า (Prospectus) มากกว่ามีผลย้อนหลัง (Restructure)
2.กฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป2.หลักอิสระของศาลต้องได้รับการประกัน
3.กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ3.การใช้อำนาจของรัฐ (การบังคับใช้กฎหมาย) และการป้องกันอาชญากรรมของหน่วยงานรัฐต้องไม่ใช้กฎหมายในทางที่ผิด เช่นการตีความเป็นต้น
4.เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจ

5.1.2 หลักนิติธรรมโดยทั่วไป (ไทย)กับหลักของราส Raz’s Principles (อังกฤษ)

หลักนิติธรรมโดยทั่วไป (ไทย)หลักของราส Raz’s Principles (อังกฤษ)
1.กฎหมายที่ดีต้องมีความชัดเจน1.กฎหมายต้องมีกฎหมายชัดเจนและกระบวนการที่ออกกฎหมาย
2. กฎหมายที่ดีต้องบัญญัติตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้2.ประชาชนต้องเข้าถึงความยุติธรรมได้ทุกคนโดยเฉพาะศาล
3.กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยสะดวกไม่ชักช้าด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

โดยสรุปจากการเปรียบเทียบข้างต้นจะเห็นได้ว่าหลักนิติธรรมที่มีความหมายและสาระสำคัญที่สอดคล้องกันของทั้งอังกฤษและไทยคือหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด 4 ใน 7 ข้อ (ประเทศไทย) ได้แก่

  1. หลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษาและตุลาการ
  2. กฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป
  3. กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ
  4. เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจ

ทั้งนี้จะคล้ายหรือสอดคล้องกับ(ประเทศอังกฤษ)หลักการของราส (Raz’s Principles) 3 ใน 8 ข้อ คือ

  1. กฎหมายต้องเป็นทั่วไป (ไม่เลือกเฉพาะ) เป็นเรื่องมีผลไปล่วงหน้า (prospectus) มากกว่ามีผลย้อนหลัง (restructure)
  2. หลักอิสระของศาลต้องได้รับการประกัน
  3. การใช้อำนาจของรัฐ(การบังคับใช้กฎหมาย) และการป้องกันอาชญากรรมของหน่วยงานรัฐต้องไม่ใช้กฎหมายในทางที่ผิด เช่นการตีความเป็นต้น

ส่วนของหลักนิติธรรมโดยทั่วไป มีสอดคล้องกันเช่น

  1. กฎหมายที่ดีต้องมีความชัดเจน
  2. กฎหมายที่ดีต้องบัญญัติตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้
  3. กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยสะดวก ไม่ชักช้าด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการของราส (Raz’s Principles) 2 ใน 8 ข้อคือ

  1. กฎหมายต้องมีกฎหมายชัดเจนและกระบวนการที่ออกกฎหมาย
  2. ประชาชนต้องเข้าถึงความยุติธรรมได้ทุกคนโดยเฉพาะศาล

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักนิติธรรม(The Rule of Law) อยู่เคียงข้างการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ทั้งประเทศอังกฤษและประเทศไทย ทั้งนี้จาก การเปรียบเทียบหาคำนิยามหรือความหมายและสาระสำคัญจากทั้งสองประเทศนั้น มีความ สอดคล้องและเหมือนกันในรายละเอียดอยู่หลายๆ ประการ ทั้งที่อังกฤษมีประวัติความเป็นมา ของระบอบประชาธิปไตยอย่างยาวนาน อีกทั้งเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมาย Common Law ซึ่งคนละระบบกับประเทศไทย ที่ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law อาจแสดงได้ว่าหลักนิติธรรมนั้น มีความเป็นสากล และอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอมา

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ จากการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะปกครอง ในระบบกฎหมายใดทั้งนั้น จะต้องมีหลักหนึ่งที่ใช้ควบคุมการปกครองหรือเป็นหลักประกันสำหรับ ประชาชนผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐนั้นไว้ ที่เรียกว่า หลักนิติธรรม(The Rule of Law) เพราะฉะนั้นจากการศึกษาหลักนี้ใน 2 ประเทศดังกล่าวจึงไม่แปลกที่พบว่ามีความสอดคล้องและ เหมือนคล้ายคลึงกันในหลายๆ ประการ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลักนิติธรรมนี้เป็นหลักสากลที่ทั่วโลก ให้การยอมรับกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน

6.บทสรุป

จากการศึกษาพบว่าหลักนิติธรรมทั้งประเทศอังกฤษและประเทศไทยนั้นมีแนวคิดคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ก่อตั้งขึ้นเพื่ออุดมการณ์ในการจำกัดอำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบถึง ความหมายและสาระสำคัญของหลักนิติธรรมทั้งสองประเทศแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในระบบกฎหมาย คนละระบบก็ตามจากการศึกษาจะเห็นได้ว่าจากการเปรียบเทียบหาคำนิยามหรือความหมายและ สาระสำคัญจากทั้งสองประเทศนั้น พบว่ามีความสอดคล้องและเหมือนกันในรายละเอียดอยู่หลายๆ ประการในหลักนิติธรรมนี้ แม้ว่าต้นกำเนิดของหลักนี้ในประเทศทั้งสองจะแตกต่างกัน กล่าวคือ ประเทศอังกฤษจากการหวั่นเกรงในอำนาจของกษัตริย์และอำนาจรัฐโดยขุนนางเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงมีต้นทางมาจากแนวคิดในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนมากกว่า ส่วนประเทศไทย เริ่มตั้งเมื่อมีระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขึ้นและได้ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในการปฎิวัติเมื่อปี พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น มีการก่อตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพและกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้น จนถึง มีการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญครั้งแรก ในมาตรา 3 เพื่อกำหนดว่าการใช้อำนาจรัฐนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นหลักนิติธรรมมีต้นทางโดยการจำกัด อำนาจรัฐโดยมุมมองของรัฐผ่านรัฐธรรมนูญลงมาสู่ปัจเจกชน แต่ประเทศอังกฤษนั้นเป็น โดยการจำกัดอำนาจรัฐโดยปัจเจกชนไปสู่รัฐ

บรรณานุกรม

กำชัย จงจักรพันธ์. (2556). หลักนิติธรรม ความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืน,สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2558, จาก URL: http://www.lrct.go.th/th/?p=5716.

คณะอนุกรรมการวิชาการและคณะอนุกรรมการบรรณาธิการในคณะกรรมการว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ. (2558). หลักนิติธรรม (The Rule of Law). ความหมายสาระสำคัญและผลของการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัทพีเอสพริ้นติ้งดีไซน์ จำกัด.

จักรพงศ์ ลิ้มสุวรรณ. (2557). ความเป็นนิติรัฐและนิติธรรมในประเทศไทย. ในรวมบทความนิติวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์. (2557). หลักนิติธรรม (Rule of Law). ในรวมบทความทางบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ90ปีศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2554). “หลักนิติธรรม (Rule of Law).” วารสารยุติธรรมคู่ขนาน.6(1), 1-2.

Benjamin Jowett, Aristotle. (2000). Politics. New York: Dover Publications.

Dicey, Albert Venn. (1915). Introduction to the Study of the Law of the Constitution. London: Liberty of Fund Inc.

Raz, Joseph. (1979). The Authority of Law: Essay of Law and Morality . Oxford: Clarendon Press.

The World Justice Project. (2012). The World Justice Project Rule of Law Index 2012-2013. Washington DC: The World Justice Project.