หลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพ : เปรียบเทียบระหว่างกฎหมายไทยกับกฎหมายอังกฤษ

Chiangmai Legal Business > บทความ > Uncategorized > หลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพ : เปรียบเทียบระหว่างกฎหมายไทยกับกฎหมายอังกฤษ

หลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพ : เปรียบเทียบระหว่างกฎหมายไทยกับกฎหมายอังกฤษ

บทคัดย่อ

บทความวิชาการนี้มุ่งศึกษาเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพระหว่างกฎหมายไทยกับกฎหมายอังกฤษ พบว่าหลักเกณฑ์คำพิพากษาศาลอังกฤษและองค์ประกอบมาตรา 420 ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยเรื่องการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อนั้นมีความเหมือนกันคือ การปรับข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ต้องพิจารณาจากหลักหน้าที่ใช้ความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ตามมาตรฐานของการดูแลและความชำนาญของวิชาชีพการพยาบาล ส่วนที่แตกต่างกันคือ ค่าเสียหาย กฎหมายไทยกำหนดให้ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ความเสียหายแล้วแต่กรณี โดยศาลจะเป็นผู้กำหนดให้ตามความเหมาะสมและไม่มีค่าเสียหายเชิงลงโทษ ซึ่งเป็นค่าเสียหายเพิ่มเติมจากค่าเสียหายธรรมดาที่มีวัตถุประสงค์ลงโทษผู้กระทำละเมิดเพื่อให้เข็ดหลาบที่มีพฤติกรรมรุนแรงมีความเสียหายมาก ส่วนกฎหมายอังกฤษได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่าค่าเสียหายเชิงลงโทษต้องเป็นกรณีกฎหมายกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำตามอำเภอใจ หรือศาลพิจารณาว่าจำเลยได้ประโยชน์จากการกระทำละเมิดเกินกว่าจะต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยมีข้อเสนอแนะว่า ในอนาคตอาจนำเรื่องค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้ในประเทศไทยตามความเหมาะสม ควรจัดอบรมให้พยาบาลวิชาชีพเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานการพยาบาลอย่างเคร่งครัด ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาล และการเขียน
บันทึกทางการพยาบาลเพื่อเป็นหลักฐานทางการพยาบาล

คำสำคัญ: หลักเกณฑ์ การละเมิดโดยประมาทเลินเล่อ พยาบาลวิชาชีพ ประเทศไทย
ประเทศอังกฤษ

บทนำ

การศึกษาเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคดีความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเลอ่ ของพยาบาลวิชาชีพระหว่างกฎหมายไทยกับกฎหมายอังกฤษพบว่า มีความเหมือนกันแต่มีที่มาของกฎหมายที่ต่างกัน สำหรับประเทศไทยความรับผิดทางละเมิดโดยความประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพนับเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งทางกฎหมายและทางวิชาชีพพยาบาล ปัจจุบันนี้มีเรื่องความประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพเกิดขึ้นเช่น พยาบาลประมาทหยอดน้ำกรดใส่ปากเด็ก 2 ขวบ1 พยาบาลปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย2 เป็นต้น ปัญหาการกระทำหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยความประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพดังกล่าวนี้ หากพิจารณาตามหลักกฎหมายแพ่งแล้วอาจต้องรับผิดในเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาหรือความรับผิดตามกฎหมายลักษณะละเมิด ดังนั้นหากการกระทำตามตัวอย่างนี้เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและผลจากการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย สิทธิหรือเสรีภาพ ตลอดจนทรัพย์สินของผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล เพื่อขอให้ศาลบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามกฎหมาย ในประเทศอังกฤษตามระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common law) กฎหมายลักษณะละเมิดมิได้มีบทบัญญัติหรือหลักกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เหมือนประเทศไทยที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil law) ที่มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ดังนั้นกฎหมายละเมิด
ของอังกฤษจึงวิวัฒนาการมาจากระบบคำพิพากษาของศาลหรือศาลเป็นผู้สร้างกฎหมาย (Judge made law) โดยศาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทมากที่สุดในการพัฒนากฎเกณฑ์และ
เงื่อนไขความรับผิดประเภทต่าง ๆ “ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อในประเทศอังกฤษมีหลักเกณฑ์และองค์ประกอบที่เหมือนกันกับกฎหมายละเมิดของประเทศไทยมาก”

บทความนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ศึกษาหลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพเปรียบเทียบกฎหมายลักษณะละเมิดและคดีละเมิดที่สำคัญระหว่าง
ประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ ศึกษาระดับของความประมาทเลินเล่อ กระบวนการฟ้องร้องกับพยาบาลวิชาชีพของกฎหมายไทยและอังกฤษ โดยเริ่มจากการอธิบายหลักกฎหมายละเมิดโดยประมาทเลินเล่อ การฟ้องร้องคดีพร้อมกับคำพิพากษาศาลของคดีละเมิดของพยาบาลวิชาชีพตามด้วยการวิเคราะห์ การเปรียบเทียบและข้อเสนอแนะ สาเหตุที่ผู้เขียนเลือกเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและประเทศอังกฤษ เนื่องจากประเทศอังกฤษถือเป็นต้นแบบของวิชาชีพพยาบาลแบบสมัยใหม่ โดยมีพยาบาลชาวอังกฤษชื่อ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลแผนใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน เมื่อปี ค.ศ. 1860 และมีจัดการสอนที่เป็นระบบโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานเรียกว่า “ระบบพยาบาลไนติงเกล”ที่ได้รับความนิยมนำไปใช้แพร่หลายทั่วโลก

ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพตามกฎหมายไทย

ในประเทศไทยความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อนั้น เป็นเรื่องหนึ่งของกฎหมายแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4205 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดีอนามัยก็ดีเสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” จากบทบัญญัติตามมาตรา 420 นี้อาจแยกหลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดได้ 4 ประการคือ 1. การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ 2. การกระทำโดยผิดกฎหมาย 3. ความเสียหาย 4. ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลแห่งการกระทำ ดังนั้นหากพยาบาลวิชาชีพรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยความสามารถที่ตนเองมีอยู่แล้วเกิดความเสียหายไม่ว่าจะเป็นชีวิตก็ดีแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ตามมาตรา 420 แล้วนั้น พยาบาลวิชาชีพผู้นั้นต้องรับผิดทางแพ่งหากปรากฏว่าความรับผิดเพื่อการละเมิดนั้นเป็นความรับผิดทางแพ่งที่มีหลักว่าจะต้องมีความผิด โดยความผิดนี้ที่พิจารณาจากการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทั้งนี้ความรับผิดที่เกิดจากการกระทำโดยประมาทนั้นกฎหมายไม่ได้บัญญัติกำหนดระดับของความประมาทไว้ ว่า “กระทำประมาทเลินเล่อธรรมดาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ดังนั้นไม่ว่าจะ
เป็นความประมาทเลินเล่อในระดับใดถือเป็นการกระทำอันเป็นละเมิดได้ทั้งนั้น6 แต่คำว่า “ประมาทเลินเล่อตามนิยามตามกฎหมายมิได้กำหนดความหมายไว้” จึงต้องอาศัยความหมาย
ของคำว่า กระทำโดยประมาทตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 59 วรรคสี่บัญญัติว่ากระทำโดยประมาทหมายถึง “กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่”

ทั้งนี้ความรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพ มีหลักเกณฑ์ โดยถือเอาสถานที่ประกอบวิชาชีพเป็นเกณฑ์ ดังนี้

  1. กรณีโรงพยาบาลเอกชน หากพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วกระทำละเมิดต่อผู้ป่วยโดยทำการรักษาพยาบาลผิดพลาดหรือเกิดจากการกระทำโดยประมาทก็ตาม ผู้ป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจะดำเนินการฟ้องร้องกับพยาบาลวิชาชีพทางละเมิดตามมาตรา 420 และฟ้องโรงพยาบาลเอกชนในฐานะที่เป็นนายจ้างตามมาตรา 425 ได้ โดยสรุปคือผู้ป่วยสามารถฟ้องพยาบาลผู้ทำละเมิดโดยตรงกับโรงพยาบาลเอกชนได้หรือจะเลือกฟ้องคนใดคนหนึ่งก็ได้ กรณีเลือกฟ้องโรงพยาบาลเอกชนและได้ดำเนินชดใช้เรื่องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้ที่จัดการแทนผู้ป่วยแล้ว หากพิจารณาได้ว่าพยาบาลวิชาชีพดังกล่าวได้กระทำการรักษาพยาบาลด้วยผิด
    พลาดหรือกระทำรักษาผู้ป่วยโดยประมาทเลินเล่อจริงโรงพยาบาลเอกชนฐานะนายจ้างสามารถฟ้องไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายไปคืนจากพยาบาลวิชาชีพได้ตามมาตรา 426
  2. กรณีโรงพยาบาลรัฐ หากพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โรงพยาบาลรัฐฟ้องไล่เบี้ยกับพยาบาลวิชาชีพที่ทำการหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรัฐแล้วกระทำละเมิดต่อผู้ป่วยขึ้นได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้า
    หน้าที่ไม่ได้” ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยงานของรัฐ เมื่อเกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่เสียหายจะฟ้องร้องให้พยาบาลวิชาชีพชดใช้ค่าเสียหายไม่ได้โดยตรง ผู้ป่วยที่เสียหายจะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของพยาบาล วิชาชีพนั้น เมื่อโรงพยาบาลรัฐนั้นจ่ายเงินค่า สินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแล้ว โรงพยาบาลรัฐนั้นมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอากับพยาบาลวิชาชีพเมื่อปรากฏว่าพยาบาลวิชาชีพได้กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น
  3. กรณีประกอบวิชาชีพการพยาบาลอิสระพยาบาลวิชาชีพที่ประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น รับจ้างเฝ้าไข้โดยตรงกับผู้ป่วยไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลหรือมีสถานพยาบาลเป็นของตนเอง พยาบาลวิชาชีพนั้นอาจมีความรับผิดฐานละเมิดตามมาตรา 420 และอาจมีความรับผิดตามกฎหมายลักษณะสัญญาได้ คือต่างฝ่ายต่างมีสิทธิหน้าที่ตามสัญญา หากมีการไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือผิดสัญญา อีกฝ่ายมีสิทธิฟ้องบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น หรือเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ สรุปคือผู้ป่วยสามารถฟ้องพยาบาลผู้ทำละเมิดโดยตรงได้ เท่านั้น

ตัวอย่างคดีละเมิดที่สำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพ

  1. คดีโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11332/2555) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล บุตรของโจทก์ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้ายชนแผงเหล็กกั้นทางโค้งปากทางเข้าหมู่บ้าน และผู้ขับขี่ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ บุตรของโจทก์มีอาการเจ็บปวดมีภาวะการบอบชำของสมองและโลหิตออกในสมองจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แม้ไม่ปรากฏบาดแผลร้ายแรงที่มองเห็นจากภายนอก แต่พยาบาลเวรซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยกลับให้ผู้ช่วยพยาบาลตรวจค้นหลักฐานในตัวบุตรของโจทก์ว่า มีบัตรประกันสังคมบัตรประกันสุขภาพ 30 บาท หรือบัตรประกันชีวิตหรือไม่ เมื่อไม่พบหลักฐานใดจึงสอบถามเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิที่เป็นผู้นำส่งว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อไม่มีคำตอบจึงปฏิเสธที่จะรับบุตรของโจทก์ไว้รักษา โดยแนะนำให้ไปรักษายังโรงพยาบาลของรัฐ การที่พยาบาลเวรลูกจ้างของจำเลย ปฏิเสธไม่รับบุตรของโจทก์เข้ารับการรักษาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของพยาบาลเวรและเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลมีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็น ต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 36 แต่กลับไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์9 ศาลฎีกาพิพากษาว่าโรงพยาบาลมีความผิดละเมิดโดยประมาทเลินเล่อให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,600,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง

    จากกรณีศึกษาพบว่า พยาบาลเวรของโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธไม่ยอมรับบุตรของโจทก์เข้ารับการรักษาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตาย ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดโดยประมาทเลินเล่อเพราะพยาบาลเวรปฏิเสธการรักษาดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉินทั้งนี้ แพทย์เวรได้บอกว่าคนไข้อาจมีภาวะเสี่ยงการบอบชำของสมองและมีโลหิตออกในสมอง แสดงว่าบุตรของโจทก์จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีแม้จะไม่ปรากฏบาดแผลร้ายแรงที่มองเห็นจากภายนอก ดังนั้นพยาบาลเวรมีความผิดและร่วมรับผิดละเมิดกับโรงพยาบาลเอกชนในฐานะนายจ้างตามมาตรา 425 บัญญัติไว้ว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น เมื่อโรงพยาบาลเอกชนได้ดำเนินชดใช้เรื่องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้ที่จัดการแทนผู้ป่วยแล้ว” หากพิจารณาได้ว่าพยาบาลวิชาชีพดังกล่าวได้กระทำการรักษาพยาบาลโดยเกิดจากความผิดพลาดหรือกรณีปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ตามมาตรา 426 บัญญัติไว้ว่า “นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น” ทั้งนี้โรงพยาบาลเอกชนในฐานะนายจ้างไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้าง คือพยาบาลเวรดังกล่าว ซึ่งสถานพยาบาลมีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา36 บัญญัติไว้ว่า“ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยตามมาตรา 33/1 ให้ได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ”
  2. คดีผู้ป่วยจิตเวชหลบหนีไปจากโรงพยาบาลของรัฐแล้วเสียชีวิตในคูน้ำ (คดีหมายเลขแดงที่1662/2536) ข้อเท็จจริงคือผู้ป่วยจิตเวชหลบหนีไปจากเตียงนอนห้องพกั ชั้นที่ 2 และเสียชีวิตในคูน้ำห่างจากตึกตนไข้ประมาณ 500 เมตร โดยไม่ทราบสาเหตุการตาย โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่พยาบาล จำเลยที่ 2 ลูกจ้างประจำ จำเลยที่ 3 พยาบาลหัวหน้าตึก จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จำเลยที่ 5 โรงพยาบาลของรัฐ ได้ร่วมกันละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยทั้ง 5 มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดูแลรักษาพยาบาลและให้ความคุ้มครองป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่กายหรือชีวิตของผู้ป่วยผู้เป็นคนไข้พิเศษในโรงพยาบาลจิตเวช เพราะความประมาทของจำเลยทั้ง 5 ที่มิได้ดูแลเอาใจใส่ต่อผู้ป่วยศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การตายของผู้ป่วยเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยต่อสู้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และต่อมาศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ของตนแล้ว การตายของผู้ป่วยเกิดขึ้น เพราะผู้ป่วยพยายามหลบหนีออกจากโรงพยาบาลเองทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้ง 2 ได้ใช้ความระมัดระวังในหน้าที่ตามที่ได้ รับมอบหมายตามสมควรแก่กรณีแล้ว การกระทำของจำเลยทั้ง 2 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด

    จากกรณีศึกษาพบว่า คดีนี้ศาลมีคำตัดสินต่างกันทั้งสองศาลในประเด็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยขาดความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลนั้นในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์อย่างไรบ้าง เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว ตามหลักการนำสืบพยานที่ว่าผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องนำสืบ ตามหลักการสืบพยานนั้นผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องนำสืบ จึงมีโอกาสน้อยที่จะนำสืบได้ชัดเจนว่าพยาบาลกระทำผิดหรือไม่ เพราะผู้เสียหายที่เป็นผู้ป่วยเป็นผู้รับบริการ และเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ศาลจึงตัดสินยกฟ้อง โดยมีข้อสังเกตว่าจำเลยทั้ง 5 ที่ไม่มีความผิดละเมิดนั้น ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่พยาบาล และจำเลยที่ 2 ลูกจ้างประจำ (ผู้ช่วยเหลือคนไข้เวรดึก) ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายตามควรแก่กรณีแล้ว ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด จึงไม่ละเมิดต่อโจทก์และไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 เป็นพยาบาลหัวหน้าตึกแม้จะมีหน้าที่จัดตารางเวรเจ้าหน้าที่พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และจำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติกรรมแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 5 โรงพยาบาลของรัฐจึงไม่ต้องรับผิดละเมิดต่อโจทก์

    สรุปคดีนี้ศาลชี้ให้เห็นว่าการนำสืบเรื่องพยาบาลประมาทเลินเล่อ หรือ ขาดความระมัดระวังในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญมากในการพิสูจน์ ดังนั้นการบันทึกการพยาบาลและรายงานเหตุการณ์ของผู้ป่วยตลอดจนเอกสารเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย คู่มือการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานของการดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องมีและประชาสัมพันธ์และจัดอบรมแก่พยาบาลและบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการพยาบาลอย่างเคร่งครัด การเขียนบันทึกทางการพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพการพยาบาลและตามกฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพยาบาลวิชาชีพ

ความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพตามกฎหมายอังกฤษ

ในประเทศอังกฤษความรับผิดทางละเมิดโดยประมาทเลินเล่อนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยละเมิด (Law of torts) ซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางแพ่ง โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1. การมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวัง (Duty of care) 2. เกิดการละเว้นหน้าที่หรือฝ่าฝืนหน้าที่ (Breach of duty) 3. ต้องมีความเสียหายเกิดขึ้น (Damage) หลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของกฎหมายจึงต้องศึกษาจากคำพิพากษาของศาลตามระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common law) โดยมีข้อสังเกต คือ ในอังกฤษสำหรับการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพในการฉีดยารักษาผู้ป่วยพยาบาลวิชาชีพจะต้องมีใบอนุญาตฉีดยา เพื่อรักษาพยาบาลยกเวน้ แพทย์ที่ปัฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ดังนั้นคดีส่วนใหญ่จึงเป็นคดีละเมิดโดยแพทย์ผู้ทำหน้าที่แต่ศาลได้มีคำพิพากษาที่วางหลักหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องพยาบาลวิชาชีพด้วย

การปรับใช้กฎหมายละเมิดจากการกระทำละเมิดในด้านของการมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวัง(Duty of care) กับการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลว่าจะต้องรับผิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เช่นนั้นพยาบาลได้มีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังหรือไม่ ดังนั้นควรต้องพิจารณาถึงหน้าที่มาตรฐานการดูแลของพยาบาล
(Standard of care for a nurse) ทั้งที่เป็นมาตรฐานภายนอก เช่น การควบคุมโดยองค์กรหรือสภาวิชาชีพและมาตรฐานภายในเช่นโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่สังกัด ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาเรื่องความรับผิดทางละเมิดของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ดังนี้

  1. มาตรฐานของการดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill)
  2. การปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพโดยทั่วไป (Common professional practice)11 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    • 2.1 มาตรฐานของการดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill) ในคดี Daniel v St. Francis Cabrini Hospital (1982) มีข้อเท็จจริงคือ นาย Daniel อายุ 77 ปี แขนข้างหนึ่งขาดได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากโตระยะสุดท้ายและมีภาวะสมองเสื่อมเรื้อรังนาย Daniel ได้ขอพยาบาลชื่อมอร์แกนได้ฉีดยาสวนทวารหนักให้เพราะมีอาการวิงเวียนศีรษะและอ่อนแรง และต่อมาได้เข้าห้องน้ำในห้องพักผู้ป่วย หลังจากนั้นนาย Daniel มีอาการเวียนหัวและล้มลงจากโถส้วมในห้องน้ำ จึงกดกริ่งในห้องน้ำและเรียกขอความช่วยเหลือจากพยาบาลแต่กริ่งเสีย ต่อมาภรรยานาย Denialที่อยู่ในห้องพักผู้ป่วยได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือของนาย Denial จึงกดอินเตอร์คอมที่อยู่ใกล้กับเตียงผู้ป่วยเพื่อเรียกพยาบาลมาช่วยเหลือ และได้น้ำตัวส่งห้องฉุกเฉินเพื่อทำการรักษาพยาบาลต่อไป ผลจากการตกมาจากโถส้วมในห้องน้ำและการที่พยาบาลไม่ได้มาช่วยเหลือโดยทันที เพราะกริ่งในห้องน้ำเสียทำให้นาย Daniel ได้รับบาดเจ็บร่างกาย โดยผิวหนังของอวัยวะเพศของเขาฉีกขาด นาย Daniel โจทก์จึงฟ้องโรงพยาบาล และพยาบาลจำเลยทั้งสองข้อหาประมาทเลินเล่อ มิได้ให้การดูแลเอาใจใส่ และสภาพจิตใจได้รับผลกระทบตลอดจนไม่รักษาพยาบาลที่จำเป็นแก่จำเลย ศาลตัดสินว่าจำเลยทั้งสองผิดประมาทเลินเล่อในหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยจริงให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,500 ดอลลาร์แก่โจทก์ คดีนี้ได้ศาลวางหลักเรื่องมาตรฐานการดูแลและความชำนาญของพยาบาลวิชาชีพไว้ว่า มาตรฐานนี้ที่นำมาใช้ได้กับการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพโดยจะต้องมีความดูแลและความชำนาญตามสมควรแห่งพฤติการณ์ ทั้งนี้พยาบาลวิชาชีพ (Registered nurse) จำเป็นต้องมีและใช้ทักษะและการตัดสินใจในระดับที่พยาบาลโดยทั่วไปผู้มีความรอบคอบควรจะมีภายใต้พฤติการณ์เดียวกัน 2.2 การปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพโดย ทั่วไป (Common professional practice) พยาบาล วิชาชีพต้องปฏิบัติงานในวิชาชีพด้วยการดูแลและ ความชำนาญ (Standard of care and skill) จะต้อง อยู่ในระดับพยาบาลวิชาชีพในสาขาวิชาเดียวกัน มี มาตรฐานการดูแลที่สอดคล้องกับการประกอบวิชาชีพ โดยทั่วไป (Common professional practice) นั้น พยาบาลวิชาชีพจะต้องผูกพันอย่างเต็มที่ในอันที่จะ ต้องปฏิบัติการตามวิชาชีพ (Practice) และตามสาขา วิชาการพยาบาลที่เรียนมาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการรับรองว่าการพัฒนาใหม่ๆ ภายใต้การ ประกอบอาชีพการพยาบาลนั้นในคดี Bolam v Friern Hospital Management Committee13 ข้อ เท็จจริงมีดังนี้ โจทก์กำลังเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้า กระตุกเพื่อรักษาความเจ็บป่วยทางจิตของเขา แพทย์ ไม่ได้ให้ยาผ่อนคลายใด ๆ และโจทก์ได้รับบาดเจ็บ สาหัสกระดูกแตกร้าวจากการกระตุกไฟฟ้านั้น ต่อมา มีความคิดเห็นแตกต่างกันในหมู่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ควรให้ยาผ่อนคลายหรือไม่ โดยฝ่ายที่ควรให้ยาผ่อน คลายบอกว่ามีโอกาสน้อยที่จะเสียชีวิตได้ ส่วนอีกฝ่าย ที่แย้งว่าไม่ควรให้ยาผ่อนคลายเพราะมีโอกาสน้อยที่ ทำให้กระดูกแตกร้าว ต่อมาแพทย์ผู้รักษาตัดสินใจไม่ ได้ให้ยาผ่อนคลายนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องว่าแพทย์ และพยาบาลมีความผิดละเมิดร่วมกันโดยละเว้นหรือ ฝ่าฝืนหน้าที่โดยไม่ให้ยาผ่อนคลายแก่โจทก์ ศาลสภา ขุนนาง (House of Lord) ได้ตัดสินว่าไม่เป็นละเมิด โดยละเว้นหรือฝ่าฝืนหน้าที่ เพราะกรณีมีสถานการณ์ ที่ต้องการใช้ความชำนาญพิเศษ (Special skill) หรือ ความสามารถ(Competence) แล้ว การพิสูจน์ถึงการ ใช้ความระมัดระวังของผู้ประกอบวิชาชีพใน สถานการณ์ดังกล่าวจะต้องใช้มาตรฐานความชำนาญ และความสามารถของผู้มีความชำนาญตามธรรมดา (The standard of ordinary skilled man) การ พิสูจน์ดังกล่าวจะไม่พิสูจน์จากบุคคลผู้ประกอบ วิชาชีพที่มีความชำนาญสูงสุด ผู้ประกอบวิชาชีพไม่ จำเป็นต้องมีความชำนาญสูงสุดในวิชาชีพนั้นก็เพียง พอแล้ว หากผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานในวิชาชีพ ด้วยความชำนาญธรรมดา (Ordinary skilled man) ของบุคคลที่มีความสามารถธรรมดา (Ordinary competence) และได้ประกอบวิชาชีพได้กระทำตาม มาตรฐานอย่างน้อยหนึ่งมาตรฐานของมาตรฐานการ ปฏิบัติงานในวิชาชีพที่สมบูรณ์แบบ (Perfectly proper standards) การกระทำของผู้ประกอบ วิชาชีพดังกล่าว ไม่ถือเป็นการประมาทเลินเล่อ แต่มี ข้อสังเกตคือ คดีนี้ได้สร้างหลักเกณฑ์ผู้ประกอบ วิชาชีพต้องปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพด้วยมาตรฐานการ ดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill) และความสมเหตุสมผล (Reasonableness) ดังนั้น ในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลต้องพิจารณา จากมาตรฐานความชำนาญและความสามารถหรือ มาตรฐานปฏิบัติงานพยาบาลวิชาชีพเป็นหลัก

      สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นอันจะทำให้ พยาบาลวิชาชีพ หรือผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในวิชาชีพนี้ ต้องรับผิดทางละเมิดฐานประมาทเลินเล่อ (Negligence) นี้ จะต้องเป็นความเสียหายที่เป็นประจักษ์ อย่างสมเหตุสมผลว่าเป็นผลเสียหายเนื่องจากการก ระทำนั้น (Reasonable) ซึ่งในระบบกฎหมายอังกฤษ ศาลจะพิจารณาดูว่าความเสียหายนั้นสามารถคาด เห็นได้หรือไม่ (Foreseeability) จากการกระทำของ ผู้ทำละเมิดนั้นและความเสียหายต้องไม่ห่างไกลเกิน ไป (Remoteness) โดยมูลเหตุของความเสียหายนั้น อันตรายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องเป็นผล โดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ไม่ได้ มาตรฐานของความระมัดระวังนั้น (Legal cause, proximate cause, direct cause) และมีค่าเสียหาย เชิงลงโทษ (Punitive damages) เพื่อป้องกันมิให้ กระทำผิดซ้ำอีกและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น

การเปรียบเทียบความรับผิดทางละเมิดโดยการกระทำประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพระหว่างไทยกับอังกฤษ

จากตารางที่ 1 การเปรียบเทียบดังกล่าว จะเห็น ได้ว่าระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ของอังกฤษต้องพิจารณาบนหลักเกณฑ์ของความรับ ผิดของความประมาทเลินเล่อจากคำพิพากษาศาลใน คดีละเมิดต่างๆ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ หน้าที่ใช้ความ ระมัดระวัง (Duty of care) การละเว้นหน้าที่หรือ ฝ่าฝืนหน้าที่ (Breach of duty) และมาตรฐานของ ดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill) ของพยาบาลวิชาชีพและความเสียหาย (Damage) ซึ่ง อันตรายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ต้องเป็นผล โดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ไม่ได้ มาตรฐานของความระมัดระวังนั้น (Legal cause, proximate cause, direct cause) และอยู่บนหลัก พื้นฐานว่าความรับผิดอยู่ที่ความผิดของผู้กระทำ (Liability base on fault) ทำให้นำไปสู่หลักกฎหมาย พยานว่าด้วยการสืบพยานที่ว่าผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้น นำสืบ ส่วนตามระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ของไทยต้องพิจารณาที่ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ตามบทบัญญัติของกฎหมายละเมิด คือมาตรา 420 โดยมีองค์ประกอบของกฎหมาย ดังนี้ 1) มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ 2) โดย ผิดกฎหมาย 3) เกิดความเสียหาย 4) ต้องมีความ สัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ และอยู่บนหลักพื้นฐานว่าความรับผิดอยู่ที่ความผิด ของผู้กระทำ (Liability base on fault) เหมือนกัน วิเคราะห์การพิจารณาหลักความรับผิดทาง ละเมิดเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ของพยาบาลวิชาชีพ เริ่มจากการพิจารณาเปรียบ เทียบมาตรา 420 ของไทยกับหลักเกณฑ์ตาม กฎหมายละเมิดเรื่องความประมาทเลินเล่อของ อังกฤษ (Tort law, the law of negligence)14 จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบของกฎหมายความรับ ผิดทางละเมิดเกิดจากการกระทำโดยประมาท เลินเล่อเหมือนกัน โดยกฎหมายอังกฤษจะมีความ ผิดประมาทเลินเล่อหรือไม่ ต้องพิจารณาจากหลัก หน้าที่ใช้ความระมัดระวัง (Duty of care) ซึ่งบุคคล ในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ทั้งนี้ อยู่บนหลักพื้นฐานเบื้องต้นคือ หลักเรื่องมาตรฐานการ การดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill) ของพยาบาลวิชาชีพไว้ว่า มาตรฐานที่นำมาใช้ได้ กับการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพโดยจะต้องมี ความดูแลตามสมควรแห่งพฤติการณ์และจะต้องใช้ มาตรฐานความชำนาญและความสามารถของ ผู้มีความชำนาญตามธรรมดา (The standard of ordinary skilled man) ซึ่งได้กำหนดไว้ตามคำ พิพากษาของศาล ส่วนของประเทศไทยในเรื่อง มาตรฐานการดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill) ของพยาบาลวิชาชีพได้กำหนดไว้โดย กฎหมาย ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประกาศ สภาการพยาบาล เรื่อง มาตรฐานการพยาบาล พ.ศ. 256215 และข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยข้อ จำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์ พ.ศ. 256416 และจากการศึกษา คดีเกี่ยวกับละเมิดโดยประมาทเลินเล่อของพยาบาล วิชาชีพทั้ง 2 ประเทศ จะเห็นได้ว่าระดับของความ ประมาทเลินเล่อของไทยและอังกฤษมีความเหมือน กันเรื่องมาตรฐานของพยาบาลวิชาชีพโดยมีการ กำหนดไว้โดยชัดเจน ทั้งนี้อังกฤษได้กำหนดไว้โดยคำ พิพากษาของศาลอังกฤษ ส่วนไทยกำหนดไว้โดย กฎหมาย ส่วนการฟ้องร้องคดีและการพิจารณาของ ศาลในคดีละเมิดต่าง ๆ กับพยาบาลวิชาชีพของไทย และอังกฤษพบว่ากระบวนการฟ้องร้องคดีกับ พยาบาลวิชาชีพทางละเมิดทั้งไทยและอังกฤษไม่ได้ แตกต่างกันมากนัก ส่วนความแตกต่างกันคือ เรื่องค่า เสียหาย กฎหมายไทยไม่มีค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive damage) แต่กฎหมายอังกฤษมีเรื่อง ค่าเสียหายเชิงลงโทษโดยได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่าต้อง เป็นกรณีกฎหมายกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง หรือเจ้าหน้าที่ รัฐกระทำตามอำเภอใจหรือศาลพิจารณาว่าจำเลยได้ ประโยชน์จากการกระทำละเมิดเกินกว่าจะต้องจ่าย ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นค่าเสียหายเพิ่มเติมไปจาก ค่าเสียหายธรรมดาที่มีวัตถุประสงค์ลงโทษผู้กระทำ ละเมิดเพื่อให้เข็ดหลาบที่มีพฤติกรรมรุนแรงที่มีความ เสียหายมาก

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบความรับผิดทางละเมิดโดยการกระท􀄞ำประมาทเลินเล่อของพยาบาลวิชาชีพระหว่างไทยกับอังกฤษ

ไทยอังกฤษ
เหมือนกัน-องค์ประกอบของกฎหมาย
ตามบทบัญญัติของกฎหมายละเมิดคือมาตรา 420
โดยมีองค์ประกอบของกฎหมาย ดังนี้
1) มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2) โดยผิดกฎหมาย
3) เกิดความเสียหาย
4) ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและ
ผลของการกระทำและอยู่บนหลักพื้นฐานว่า
ความรับผิดอยู่ที่ความผิดของผู้กระทำ (Liability base on fault)
เหมือนกัน-หลักเกณฑ์ของความรับผิดของความ
ประมาทเลินเล่อจากคำพิพากษาของศาล โดยมีหลัก
เกณฑ์ดังนี้
1) หน้าที่ใช้ความระมัดระวัง (Duty of care)
2) การละเว้นหน้าที่หรือฝ่าฝืนหน้าที่
(Breach of duty)
3) ความเสียหาย (Damage) ซึ่งอันตรายหรือความ
เสียหายที่เกิดขึ้นนี้ต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระ
ทำหรือละเว้นการกระทำที่ไม่ได้มาตรฐานของความ
ระมัดระวังนั้น (Legal cause, proximate cause,
direct cause) และอยู่บนหลักพื้นฐานว่าความรับ
ผิดอยู่ที่ความผิดของผู้กระทำ (Liability base on fault)
เหมือนกัน-ระดับการประมาทเลินเล่อ
มาตรฐานความระมัดระวังและความชำนาญ
(Standard of care and skill)
โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประกาศสภา
การพยาบาลเรื่อง มาตรฐานการพยาบาล
พ.ศ. 2562 และข้อบังคับสภาการพยาบาล
ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบ
วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
พ.ศ. 2564
เหมือนกัน-ระดับการประมาทเลินเล่อ
มาตรฐานของระมัดระวังและความชำนาญ
(Standard of care and skill)
มีความระมัดระวังตามสมควรแห่งพฤติการณ์
และจะต้องใช้มาตรฐานความชำนาญและ
ความสามารถของผู้มีความชำนาญตามธรรมดา
(The standard of ordinary skilled man)
ตามคำพิพากษาของศาลเป็นกรณีๆ ไป
แตกต่างกัน-ไม่มีค่าเสียหายเชิงลงโทษแตกต่างกัน-มีค่าเสียหายเชิงลงโทษโดยได้วางกฎ
เกณฑ์ไว้ว่าต้องเป็นกรณีกฎหมายกำหนดไว้โดยชัด
แจ้ง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำตามอำเภอใจหรือศาล
พิจารณาว่าจำเลยได้ประโยชน์จากการกระทำละเมิด
เกินกว่าจะต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์


สรุปและข้อเสนอแนะ

จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์กฎหมายละเมิดว่าด้วย ประมาทเลินเล่อของอังกฤษ และมาตรา 420 ของ ไทยเรื่องการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อโดย พยาบาลวิชาชีพนั้น มีความเหมือนกันในเรื่อง มาตรฐานการดูแลและความชำนาญ (Standard of care and skill) อังกฤษมีมาตรฐานที่นำมาใช้ได้กับ การปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพโดยจะต้องมี มาตรฐานดูแลตามสมควรแห่งพฤติการณ์และจะต้อง ใช้มาตรฐานความชำนาญและความสามารถของผู้มี ความชำนาญตามธรรมดา (The standard of ordinary skilled man) ตามคำพิพากษาของศาล อังกฤษ ส่วนประเทศไทยมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน ของพยาบาลวิชาชีพโดยมีกฎหมายที่บังคับใช้คือ ประกาศสภาการพยาบาลเรื่อง มาตรฐานการ พยาบาล พ.ศ. 2562 และข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพ การพยาบาลและการผดุงครรภ์พ.ศ. 2564 ทั้งนี้อาจ นำคดีของศาลอังกฤษเรื่องประมาทเลินเล่อของ พยาบาลวิชาชีพมาศึกษาโดยดูเป็นกรณี ๆ ไปตาม ความเหมาะสม แต่มิได้หมายความว่าจะต้องนำ กฎหมายหรือคดีของศาลประเทศอังกฤษมาปรับใช้ ในประเทศไทยในทุกกรณีเพราะระบบกฎหมาย วัฒนธรรม และประเพณีแตกต่างกัน แต่อาจนำมาใช้ ศึกษาเพื่อเป็นแนวคิดและมาเสริมสร้างโดยเฉพาะการ พัฒนามาตรฐานของระมัดระวังและความชำนาญ (Standard of care and skill) ของพยาบาลวิชาชีพ ของไทย

ข้อเสนอแนะคือ ให้พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติตาม มาตรฐานการพยาบาลและข้อบังคับสภาการพยาบาล อย่างเคร่งครัด โดยมีการอบรมการเขียนบันทึก ทางการพยาบาลที่ใช้เป็นหลักฐานทางการพยาบาลได้ เช่น วิธีการบันทึกทางการพยาบาลต้องถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่อง และแบบบันทึกทางการ พยาบาลต้องเหมาะสมครอบคลุม สอดคล้อง กระบวนการพยาบาล และครอบคลุมปัญหาของ ผู้ป่วยแบบองค์รวม และ มีแบบฟอร์มการบันทึก ที่ไม่ซ้ำซ้อนและต้องมีคู่มือการใช้รูปแบบบันทึก ทางการพยาบาลสำหรับใช้เป็นแนวทางการการ บันทึกและตัวอย่างต่าง ๆ หรือจัดอบรมเรื่องความ รับผิดทางละเมิดของพยาบาลวิชาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้ในแง่กฎหมายอาจกำหนดให้มีค่าเสีย หายเชิงลงโทษ (Punitive damage) ในกฎหมาย ไทยต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก. เจ้าหน้าที่พยาบาลประมาทหยอดน้ำกรดใส่ปากเด็ก 2 ขวบ พ.ศ. 2551 [เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=160
  2. จดหมายข่าวสภาการพยาบาล. กรณีตัวอย่างเพื่อการเรียนรู้ : ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย ปีที่18 พ.ศ. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://www.tnmc.or.th/images/userfiles/files/Newsletter2559/Newsletter2559_18_6.pdf
  3. เอกณัฐ จิณเสน. ความรับผิดเพื่อละเมิดจากการประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์; 2548.
  4. พิพิธภัณฑ์ประวัติคณะพยาบาลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก http://cene2.nurse.cmu.ac.th:81/museum/index.php/museumintroduction/exhibition/part2/missflorencenightingale.html
  5. วิกรณ์ รักปวงชน. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์.กรุงเทพฯ: บริษัทไอดีซีพรีเมียร์; 2563.
  6. เอกฤทธิ์ กองนักวงษ์. ความรับผิดทางละเมิดของแพทย์อันเนื่องมาจากการบำบัดรักษาผู้ป่วยผิดพลาด. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต; 2558.
  7. จินตนา สุวิทวัส. ความรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาล. วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ. พ.ศ.2560 [เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://he01.tci-thaijo.org/index.php/nah/article/view/108116
  8. ธนา เบญจาทิกุล. หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ. โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาถือเป็นละเมิด. พ.ศ. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://www.hfocus.org/content/2016/01/11544
  9. คำพิพากษาที่น่าสนใจ. วารสารกฎหมายสุขภาพและสาธารณสุข. 2559;2(3):406-9.
  10. เขตไท ลังการ์พินธุ์. ความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจากการประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาล (Clinical Negligence) ในระบบกฎหมายอังกฤษและระบบกฎหมายไทย. วารสารนิติศาสตร์. 2546:33(4);744-62.
  11. ศิณีนาถ เกียรติกังวาฬไกล. ความรับผิดทางละเมิดของผู้ประกอบวิชาชีพ. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2531.
  12. Mikel A. Rothenberg. Emergency Medicine Malpractice. 3rd edition.London: Aspen Law & Business. 1999.
  13. E-law resources Uk. Bolam v Friern Hospital Management Committee.(Internet) 1957. [cited 2022/8/15]. Available from :http://www.e-lawresources.co.uk/Bolam-v–Friern-Hospital-Management-Committee.php
  14. Richard Kidner. Casebook on Torts. 3rd edition. London: Oxford University Press; 2012.
  15. ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง มาตรฐานการพยาบาล พ.ศ. 2562. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 เมษายน 2562 หน้า 30 เล่ม 136 ตอนพิเศษ 97 ง.
  16. ข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2564. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 มีนาคม 2564 หน้า 28 เล่ม 138 ตอนพิเศษ 53 ง.